กลยุทธ์และการบริหารจัดการความยั่งยืน
นโยบายและเป้าหมายการจัดการด้านความยั่งยืน
จากวิสัยทัศน์ของบริษัท “บริษัทฯ มุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมถังแก๊สของโลก โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เพื่อการ
เติบโตอย่างยั่งยืน” คณะกรรมการบริษัทตระหนักและมีวิสัยทัศน์ว่า แนวทางในการดำเนินธุรกิจของบริษัทในการที่จะสร้างคุณค่าเพิ่ม เติบโต และประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องมีการสร้างสมดุลของทั้งด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม ประกอบกับการเคารพสิทธิมนุษยชน และคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ภายใต้หลักจริยธรรม การกำกับและดูแลกิจการที่ดี และการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นหลักปรัชญาที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำรัสแก่พสกนิกรชาวไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 คือ ดำรงอยู่ภายใต้หลักความพอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน บนเงื่อนไข “ความรู้” และ “คุณธรรม” โดยนำมาบูรณาการกับหลักจรรยาบรรณธุรกิจและนโยบายการดำเนินงานของบริษัทผ่านกิจกรรมที่จัดทำขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด บริษัทได้นำประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนจัดทำเป็นแผนกลยุทธ์และแนวทางการดำเนินงานด้านความยั่งยืน ซึ่งตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยได้กำหนดแนวทางการพัฒนาเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนของธุรกิจ 5 ด้าน (5 Megatrends Towards Future Sustainability for SMPC) โดยบริษัทได้ดำเนินงานด้านมิติเศษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ดังนี้
กลยุทธ์ด้านความยั่งยืนและการสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
ทรัพยากรบุคคล ถือเป็นจุดเริ่มต้นและเป้าหมายในการพัฒนาองค์กรของบริษัท บริษัทให้ความสำคัญกับการดูแลพนักงานและการพัฒนาทักษะในการทำงานทั้งในแนวกว้างและลึก ขยายขีดความสามารถ ศักยภาพของพนักงาน และสร้างผู้นำที่ดีที่นอกจากจะมีความสามารถทางด้านธุรกิจแล้ว ยังมีจิตสำนึกที่ดี และมีการกำกับดูแลกิจการที่ดีเพื่อองค์กรและสังคม
ซึ่งบริษัทได้พัฒนาบุคคลากรผ่านทางการอบรมทั้งภายในและภายนอกบริษัท มีการสร้างบรรยากาศในการทำงาน สร้างวัฒนธรรมองค์กรให้มีการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนและรับฟังความคิดเห็น รวมถึงมีการทำโครงงานร่วมกันระหว่างฝ่ายเพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันเป็นทีม พนักงานในแต่ละฝ่ายมีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ทำให้นอกจากจะเกิดการพัฒนากระบวนการทำงาน พัฒนากระบวนการผลิต และการพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ ๆ แล้ว ยังทำให้พนักงานมีความรู้สึกผูกพันและร่วมเติบโตไปพร้อมกับบริษัท
บริษัทได้ปลูกฝังเรื่องของความรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมให้กับพนักงานในองค์กรผ่านกิจกรรมต่างๆ ทำให้พนักงานตระหนักถีงความสำคัญต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ในการบริหารทรัพยากรบุคคลของบริษัทยังให้ความสำคัญกับการดูแลพนักงานให้พนักงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี ให้ผลตอบแทนและสวัสดิการที่เป็นธรรม พนักงานมีอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน โดยบริษัทคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนเป็นหลักการสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิ เสรีภาพ หรือความเสมอภาค รวมถึงการได้รับการปกป้อง คุ้มครองที่เป็นธรรม
บริษัทฯ ได้มีการพัฒนากระบวนการทำงานเข้าสู่ระบบดิจิทัล เพื่อรองรับรูปแบบการทำงานและการดำเนินชีวิตแบบใหม่ ได้มีการปรับรูปแบบการทำงานและการประชุมทางออนไลน์มากขึ้น บริษัทฯ มีการวางนโยบายในการนำระบบดิจิทัลเข้ามาใช้ในการจัดการห่วงโซ่อุปทานของบริษัทฯ มากขึ้น โดยมีการพัฒนาระบบการทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการบริหารจัดการ เพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการทำงาน สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้รวดเร็วยิ่งขึ้น และลดการใช้ทรัพยากร โดยบริษัทได้ดำเนินการนำระบบ e-document และ e-workflow มาใช้ในการปรับปรุงกระบวนการทำงาน
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีความตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของระบบสารสนเทศจึงได้มีการวางระบบโครงสร้างเพื่อปกป้องข้อมูลให้มีความปลอดภัยบนเครือข่าย และดำเนินการในเรื่องของการจัดการข้อมูลส่วนบุคคล โดยการตรวจสอบความพร้อมและปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของพนักงานและบุคคลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกกลุ่ม
บริษัทฯ ได้ดำเนินกิจการโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทฯ ได้นำมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001:2015 มาใช้ในองค์กร มีการจัดทำนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม จัดกิจกรรมและโครงการให้พนักงานตระหนักและให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม นำระบบดิจิทัลเข้ามาใช้ในการทำงานเพื่อลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ นอกจากนี้บริษัทได้พัฒนากระบวนการผลิตเพื่อลดการเกิดของเสียและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ นำระบบบำบัดอากาศแบบเปียก (Wet Scrubber) มาใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อไม่ให้มีการปล่อยควันและฝุ่นที่เกิดจากกระบวนการผลิตไปสู่อากาศ ทำให้ไม่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม นำอุปกรณ์ลดเสียงลม (Silencers) มาใช้ในกระบวนการผลิต เพิ่มอุปกรณ์ป้องกันเสียงเพื่อลดเสียงที่เกิดจากการทำงานในโรงงาน ติดตั้งผนังกันเสียงเพื่อลดเสียงที่เกิดจากการทำงานในโรงงาน ทำการปลูกต้นไม้รอบรั้วโรงงานเพื่อให้เกิดเป็นพื้นที่สีเขียว และเป็นกำแพงกันเสียง ทำการบำบัดน้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิตและนำกลับมาใช้ใหม่ 100%
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่โลกกำลังเผชิญอยู่ จึงมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม มีการจัดตั้งคณะทำงานด้านการจัดการคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร เพื่อกำหนดเป้าหมาย และแนวทางดำเนินงานในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยบริษัทฯได้ลดการใช้ไฟฟ้าและใช้พลังงานทดแทนจากระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาโรงงาน (Solar Rooftop) เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง และนำไปสู่การรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
บริษัทฯ ได้มีการติดตามเทคโนโลยีใหม่ๆ และพัฒนากระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่อง เช่น การนำหุ่นยนต์และระบบสายการผลิตอัตโนมัติเข้ามาพัฒนาเพื่อใช้ในกระบวนการผลิต ทำให้คุณภาพของงานมีความสม่ำเสมอ เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และลดการเกิดของสียในกระบวนการผลิตลงได้ นอกจากนี้บริษัทยังมีการขยายผลโดยการนำระบบอัตโนมัติมาใช้ในกระบวนการอื่นๆ ในการทำงานมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของโรงงานผลิต และในส่วนสำนักงาน
การที่บริษัทฯ จะมีความยั่งยืนได้นั้น สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือการคิดค้นและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ทั้งนวัตกรรมในสินค้า การบริการ ระบบการทำงาน และกระบวนการผลิต เพื่อให้สามารถเข้าถึงและตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น ในการสร้างนวัตกรรมของบริษัท บริษัทคำนึงถึงความต้องการของลูกค้า สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยนำความคิดเห็นและปัญหาของลูกค้าและผู้มีส่วนได้เสียมาพัฒนาสินค้าและบริการ เช่น การนำ RFID มาใช้กับถังแก๊สสำหรับปิโตรเลียมเหลว ทำให้ลูกค้าสามารถบันทึกข้อมูลและนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการใช้งานได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการหมุนเวียนของถัง การจัดการบริหารสินค้าคงคลัง และการสอบย้อนกลับ เป็นต้น นอกจากนี้บริษัทได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ทำจากวัสดุอลูมิเนียม เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่ต้องการถังน้ำหนักเบา สะดวกต่อการใช้งานและการขนย้าย ถังเป็นสนิมได้ยาก และเมื่อสิ้นอายุการใช้งานของถังวัสดุสามารถรีไซเคิลได้ 100%
นอกจากการนำนวัตกรรมมาใช้ในสินค้าและบริการแล้ว บริษัทยังนำนวัตกรรมมาใช้ในกระบวนการผลิต มีการวิจัยและพัฒนาเพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิต การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อสร้างเสถียรภาพการผลิต ให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ และปลอดภัย
การประเมินประเด็นสำคัญต่อความยั่งยืน
บริษัทได้คำนึงถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ รวมถึงประเด็นที่สอดคล้องกับความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย
ทุกกลุ่มตลอดห่วงโซ่คุณค่าทางธุรกิจ โดยอาศัยหลักการตามแนวทางของ Global Reporting Initiative (GRI) Standards เพื่อสะท้อนปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินธุรกิจในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล โดยมีการประเมินประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน 3 ขั้นตอน ดังนี้
1. การระบุประเด็นสำคัญ
บริษัทคำนึงถึงประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัท โดยวิเคราะห์ประเด็นสำคัญทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก ทำการกำหนดขอบเขตการพัฒนาความยั่งยืนให้สอดคล้องกับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ โดยคำนึงถึงบริบทด้านความยั่งยืน ความต้องการ และความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มตลอดห่วงโซ่คุณค่าให้ครอบคลุมทั้งภายในและภายนอกองค์กร
2. การลำดับความสำคัญ
บริษัทได้นำประเด็นสำคัญที่ระบุในขั้นตอนที่ 1 มาพิจารณาจัดลำดับความสำคัญ โดยคำนึงถึงโอกาสและความรุนแรงของผลกระทบในแต่ละประเด็นต่อการสร้างคุณค่าทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
3. การทวนสอบประเด็น
นำเสนอประเด็นที่ได้จากการจัดลำดับความสำคัญให้กับคณะผู้บริหารในการพิจารณาทบทวนประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนขององค์กร ตรวจสอบความสมบูรณ์ ถูกต้อง และครบถ้วนของประเด็นที่มีนัยสำคัญ เพื่อให้ครอบคลุมทุกมิติทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
ผลการประเมินประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน
บริษัทได้ทบทวนการประเมินด้านประเด็นความยั่งยืนที่สำคัญ และจัดลำดับความสำคัญของประเด็น โดยได้พิจารณาข้อมูล
จากผู้มีส่วนได้เสีย ปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียและต่อบริษัท ซึ่งแต่ละประเด็นมีความสำคัญด้านความยั่งยืนในมิติเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคมที่แตกต่างออกไป โดยในปี 2566 บริษัทได้ระบุประเด็นสำคัญของธุรกิจ และประเด็นดังกล่าวได้รับการอนุมัติโดยคณะกรรมการบริษัท ดังนี้